|
3 เมษายน 2568
|
อา |
จ. |
อ. |
พ. |
พฤ |
ศ. |
ส. |
| |
1 |
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
7 |
8 |
9 |
10 |
11 |
12 |
13 |
14 |
15 |
16 |
17 |
18 |
19 |
20 |
21 |
22 |
23 |
24 |
25 |
26 |
27 |
28 |
29 |
30 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ข่าวกิจกรรม
|
|
ข้อคิดเสริมพลังจาก รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร
|
|
รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร อดีตประธานมูลนิธิพัฒนาอีสาน ได้ให้ข้อคิดเสริมพลังกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาอีสาน เนื่องในวันประชุมติดตามงานเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์ฝึกอบรมเนท
ชีวิตประจำวันของเราอยู่กับการตัดสินคุณค่า เช่น ชอบไม่ชอบ ใช่ไม่ใช่ตลอดเวลา ทำให้เราเหนื่อย ความคิดเหล่านี้เป็นตัวทำร้ายเราไม่น้อย ฉะนั้นถ้าเรามองโลกตามความเป็นจริงบ้าง ไม่ต้องตัดสินและลงความเห็น รับรู้เฉยๆ ก็จะมีความสุข ทำได้ด้วยการฝึก ตาหูจมูกเราหาเรื่องตลอด ถ้าการรับข้อมูลของเรารับรู้เฉยๆบ้าง ไม่ต้องใส่ความรู้สึกของเราลงไป จะทำให้เราได้พัก ในชีวิตการทำงานของเราไม่ใช่สิ่งที่ราบเรียบเสมอไป ปีนี้เริ่มทำให้เราเผชิญกับสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น ในนามคณะกรรมการก็ขอชื่นชมพวกเราที่รับทราบสถานการณ์ของมูลนิธิแล้วก็ทำงานด้วยใจเสียสละ ถ้ามองสถานการณ์ที่เราเผชิญด้วยกันแล้วเรายังหัวเราะได้ก็เป็นสิ่งที่ขอชื่นชม
ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของเรามากกว่า จำนวนชั่วโมงที่อยู่ที่นี่ยาวนานมากกว่าที่อื่น ถ้าเวลายาวนานนั้นอยู่กับความเครียดความทุกข์ความไม่สบายใจก็ไม่ใช่สุขภาวะที่ดี เราต้องอยู่อย่างมีกำลังใจ เบิกบานและทำอะไรดีๆให้กับแผ่นดินนี้ เราต้องเริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่น ได้เห็นเป้าหมายที่เราเลือกแล้วว่าจะอยู่บ้านหลังนี้ทั้งๆที่ไม่ใช่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราก็พร้อมที่จะช่วยกันรังสรรค์ให้เป็นบ้านที่มีความเอื้อเฟื้อไปสู่พี่น้องอื่นๆ ทำงานที่คลี่คลายปัญหา สร้างแบบอย่างดีๆ สร้างพลังให้กับคนที่มีโอกาสน้อยในสังคม ไม่ใช่จะมีคนอื่นมากมายที่จะได้มาทำงานอยู่ในบ้านหลังนี้ เรามีโอกาสทำงานและสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเราได้ด้วย ถึงแม้จะไม่หรูหราและไม่ทำให้เราสมความปรารถนาทุกประการก็ตาม
ถ้าปัญญาความสามารถของเราอยู่ในระดับอุดมศึกษา ข้อสอบก็ต้องอยู่ในระดับอุดมศึกษาด้วยเช่นกัน ถ้าเรามองว่าอันนี้เป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยเติมเต็มชีวิตนอกจากการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ที่นี่ก็เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เป็นครูวิชาชีวิต เรามองในมุมนี้ก็จะผ่านข้อสอบได้อีกชุดหนึ่ง ถ้าไปเจอเรื่องหนักๆข้างหน้าก็จะผ่านไปง่ายเพราะเราผ่านมาแล้ว
ที่เขียนในกระดานว่าเรื่องส่วนตัวประกอบด้วยจิตและกาย ส่วนรวมมีวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เราอาจจะต้องสร้างความสมดุลในมิติทั้ง 4 ช่อง เคนวิเบอร์เขาเขียนหนังสือเรื่องสรรพสิ่งเมื่อเขาอายุ 25 ปี ตำรานี้ถูกตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 25 ภาษาทั่วโลก การที่เราจะเชื่อมบูรณาการต้องเชื่อมให้เห็นทั้งมิติส่วนตัวและส่วนรวม ในความเป็นจริงของชีวิตทั้ง 4 ช่องไม่ได้ตีตารางเท่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน ที่คิดว่าพอและเหมาะสมกับชีวิตเรา มิติส่วนตัวมีทั้งกายและจิต สุขภาพกายเป็นเรื่องสำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่น ส่วนสุขภาพจิตเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราจะต้องฝึก แต่เรามักจะห่อหุ้มปรุงแต่งความคิดของเรา เราต้องฝึกวิชาชำเลืองใจและวิชาสิ้นคิดบ้าง (ดูจิตสิ่งใดที่ไม่ต้องคิดก็วางเฉย)
เมื่อถูกขัดใจก็ให้ไปขัดล้างใจให้สะอาด ทำดีละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง หรือสิ้นจากความคิดปรุงแต่งตัดสินคุณค่า ให้มีสติตั้งมั่นแล้วความสามารถบางอย่างจะเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่มีให้เรา รู้ก็ต่อเมื่อเจอกับชีวิตจริง วิชาชีวิตต้องไปหาเอง ในเมื่อเราใช้เวลากับบ้านหลังนี้เยอะ ก็ต้องหาเวลาทำให้เราปลอดโปร่งสบาย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ สะอาด สว่าง สงบ แบบนี้ ถึงจะเจอเรื่องไม่ดีเราก็รับมือได้ สิ่งที่หล่อเลี้ยงใจคือสิ่งที่พวกเราได้ทำเพื่อสังคม
|
|
|
|